SIDEBAR
»
S
I
D
E
B
A
R
«
รู้จักวารสารวิชาการคณะต่างๆ ในมหาวิทยาลัยหัวเฉียวฯ
มิ.ย. 27th, 2019 by อุไรรัตน์ ผาสิน

คณะต่างๆ ของมหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ ได้ตีพิมพ์หรือผลิตวารสารทางวิชาการ เพื่อเป็นการเผยแพร่ผลงานทางวิชาการ บทความวิจัย และบทความทางวิชาการที่เกี่ยวข้องกับสาขาวิชานั้นๆ โดยเป็นผลงานของคณาจารย์ของแต่ละคณะ หรือคณาจารย์ นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยอื่นๆ ที่ส่งบทความมาลงและผ่านการเห็นชอบจากคณะกรรมการประเมินบทความ (Peer review)

ศูนย์บรรณสารสนเทศ ได้มีรวบรวมข้อมูลของวารสารคณะต่างๆ ไว้ที่ www.lib.hcu.ac.th  เพื่อสะดวกในการเข้าถึงวารสารชื่อต่างๆ ของแต่ละคณะ จึงขอแนะนำวารสารของคณะต่างๆ ดังนี้

วารสารวิชาการ มฉก. คณะต่างๆ

 

วารสาร มฉก. วิชาการ   HCU.Journal

  • เผยแพร่บทความวิจัย และบทความทางวิชาการสาขาวิทยาศาสตร์สุขภาพ ได้แก่สาขาวิชาพยาบาลศาสตร์ เภสัชศาสตร์ สาธารณสุขศาสตร์ กายภาพบำบัด เทคนิคการแพทย์ การแพทย์แผนจีนและอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเริ่มพิมพ์เผยแพร่ ตั้งแต่ ปีที่ 1 ฉบับที่ 1 กรกฎาคม-ธันวาคม 2540 ถึงปัจจุบัน
  • ปัจจุบัน วารสารนี้ได้ผ่านการรับรองคุณภาพตามเกณฑ์มาตรฐาน TCI (Thai-Journal Citation Index Centre) จัดอยู่ในวารสารกลุ่มที่ 1
  • กำหนดออก ปีละ 2 ฉบับ
  • ดูได้ที่   http://journal.hcu.ac.th/sand.htm

Read the rest of this entry »

View (336)

กลบท : ภูมิปัญญาไทยในโลกแห่งกวีนิพนธ์
มี.ค. 19th, 2016 by rungtiwa

กลบท : ภูมิปัญญาไทยในโลกแห่งกวีนิพนธ์

บทคัดย่อ

กลบทและกลอักษรเป็นรูปแบบหนึ่งของงานกวีนิพนธ์ที่มีหลักฐานทางวรรณคดีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย รูปแบบของกลบทแสดงถึงปรีชาชาญอันล้ำเลิศของบรรพชนไทยในการสร้างสรรค์ตัวอักษรเป็นแม่บทอันมีลีลา ความไพเราะและความหมายที่หลากหลายและงดงามเป็นรากฐานอันวิเศษแสดงถึงความอลังการในงานกวีนิพนธ์ที่มีอิทธิพลต่อการรังสรรค์งานของกวีไทยในยุคปัจจุบัน

ศราวุธ สุทธิรัตน์. (2546). กลบท : ภูมิปัญญาไทยในโลกแห่งกวีนิพนธ์.วารสาร มฉก.วิชาการ 7 (13), 90-99.

View (38)

หลักฐานทางประวัติศาสตร์ : อิฐดินเผาสมัยพระเจ้าคังซี
มี.ค. 19th, 2016 by rungtiwa

หลักฐานทางประวัติศาสตร์ : อิฐดินเผาสมัยพระเจ้าคังซี

บทคัดย่อ

บทความทางวิชาการเรื่อง “หลักฐานทางประวัติศาสตร์ : อิฐดินเผาสมัยพระเจ้าคังซี” มีวัตถุประสงค์เพื่อเสนอผลการศึกษาค้นคว้าเหตุการณ์ในอดีตจากหลักฐานทางประวัติศาสตร์หรือโบราณวัตถุ คือ อิฐดินเผาที่ค้นพบ ณ วัดสมเด็จพระนารายณ์มหาราช จังหวัดตาก โดยสันนิษฐานว่า อิฐดินเผาสมัยพระเจ้าคังซี อาจเป็นหลักฐานโบราณวัตถุสมัยกรุงศรีอยุธยา ซึ่งวัตถุชิ้นนี้ได้มาจากสิ่งก่อสร้างภายในวัดที่อาจจะมีความเจริญรุ่งเรืองในอดีตมาก่อน นอกจากนี้ยังได้ศึกษาเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ที่อาจจะมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับอิฐดินเผา คือ เหตุการณ์ในสมัยพระเจ้าอยู่ท้ายสระ ตามหลักฐานที่ปรากฏจารึกบนอิฐดินเผาว่า “รัชสมัยจักรพรรดิคังซี ปีที่ ๕๔” และ บทบาทของชาวจีนในเมืองตากสมัยกรุงศรีอยุธยา ซึ่งจารึกไว้ว่า “คนแซ่เจิงเป็นผู้สร้างถวาย” น่าจะมีการผสมผสานทางวัฒนธรรม ทำให้สามารถตั้งถิ่นฐานถาวรอยู่ในเมืองตากได้อย่างราบรื่น

สำหรับแนวทางการศึกษาครั้งนี้เป็นการศึกษาในแนวกว้าง เพื่อเป็นพื้นฐานทางประวัติศาสตร์ให้ นักวิชาการหรือนักวิจัยที่สนใจนำไปศึกษาค้นคว้ารายละเอียดระดับลึกยิ่งขึ้น โดยพบว่า หลักฐานโบราณวัตถุอิฐดินเผาสมัยพระเจ้าคังซี และหลักฐานประเภทลายลักษณ์อักษรที่ค้นพบ ยังไม่สามารถให้ข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ได้อย่างแท้จริง ในเรื่องความเป็นมาของวัดสมเด็จพระนารายณ์มหาราช หรือแม้แต่ที่มาของอิฐดินเผาว่าเป็นชิ้นส่วนใดของสิ่งก่อสร้างภายในวัดร้างแห่งนี้ แต่หลักฐานที่พบทำให้เชื่อได้ว่า มีชาวจีนอพยพเข้ามาอยู่ในเมืองตากตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา และมีบทบาททางสังคมอย่างชัดเจนในฐานะผู้อุทิศกุศลในการสร้างหรือปฏิสังขรณ์ศาสนสถานแก่วัด ด้วยจิตเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนา

ข้อสังเกตที่น่าสนใจคือ ประเด็นเส้นทางการอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานในเมืองตากของชาวจีนในเมืองตาก อาจจะเป็นเส้นทางเดียวกับเส้นทางเดินทัพของทหาร หรือเส้นทางที่พ่อค้าเกวียนเดินทางค้าขายระหว่างเมืองอยุธยากับเมืองตากที่เรียกว่า ตาก-ระแหงหรือไม่ เป็นเรื่องที่ต้องทำการศึกษาค้นคว้าต่อไป

รายการอ้างอิง

 

พลวัฒ ประพัฒน์ทอง และสุวนัน ขวัญทอง. (2546). หลักฐานทางประวัติศาสตร์ : อิฐดินเผาสมัยพระเจ้าคังซี. วารสาร มฉก.วิชาการ 7 (13), 83-89.

View (37)

จริยศาสตร์เพื่อการกีฬา : การปรับความสมดุลของมนุษย์
มี.ค. 19th, 2016 by rungtiwa

จริยศาสตร์เพื่อการกีฬา : การปรับความสมดุลของมนุษย์

บทคัดย่อ

กีฬาจัดเป็นสันทนาการประการหนึ่งที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาชีวิตและสังคม โดยมีปรัชญาพื้นฐานสำคัญคือการทำคนให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ทั้งทางร่างกาย จิตใจ อารมณ์ สติปัญญา บุคลิกภาพและสังคม แต่ปัจจุบันได้เกิดปัญหาขึ้นกับวงการกีฬามากมาย ปัญหาที่ว่านี้คือปัญหาที่เกิดจากตัวบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการกีฬาทั้งหมด เช่น ผู้แข่งขัน ผู้ตัดสิน ผู้ชมการแข่งขัน ผู้สนับสนุน และปัญหาที่เกิดจากปัจจัยภายนอกโดยเฉพาะการพนันที่เข้าไปทำลายสารัตถะของการกีฬาและก่อให้เกิดปัญหาตามมาอีกมากมาย เมื่อวิเคราะห์ตามหลักพุทธจริยศาสตร์จะได้คำตอบที่ว่า ปัญหานี้เกิดจากความบกพร่องทางจิตวิญญาณของมนุษย์ ดังนั้น กระบวนการแก้ไขปัญหานี้จึงอยู่ที่การหาวิธีการปลูกจิตสำนึกเชิงจริยธรรมให้แก่ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการกีฬาทั้งหมดให้เป็นไปตามปรัชญาของการกีฬาที่ว่า “แก้กองกิเลสทำคนให้เป็นคน”

ธีรโชติ เกิดแก้ว.  (2546). จริยศาสตร์เพื่อการกีฬา : การปรับความสมดุลของมนุษย์. วารสาร มฉก.วิชาการ 7 (13), 72-82.

View (23)

ปริทัศน์ทางความคิดว่าด้วยเรื่อง ความต้องการ เปรียบเทียบแนวความคิดระหว่างพระพุทธศาสนากับปรัชญาตะวันตก
มี.ค. 19th, 2016 by rungtiwa

ปริทัศน์ทางความคิดว่าด้วยเรื่อง ความต้องการเปรียบเทียบแนวความคิดระหว่างพระพุทธศาสนากับปรัชญาตะวันตก

บทคัดย่อ

พระพุทธศาสนากับปรัชญาตะวันตกมีแนวความคิดว่าด้วยเรื่องความต้องการที่เหมือนกันอยู่อย่างหนึ่ง คือ ทั้งสองยอมรับว่าความต้องการเป็นกิเลสอย่างหนึ่งของมนุษย์ต่างกันก็ตรงที่ว่าพระพุทธศาสนามองว่าความต้องการเป็นสิ่งที่สามารถลดลงได้จากการฝึกฝนและพัฒนาตนของมนุษย์ตามหลักไตรสิกขา แต่ปรัชญาตะวันตกมองว่าความต้องการไม่มีทางที่จะแก้ไขได้ เพราะถือว่าความต้องการให้ความสุขแก่มนุษย์และก่อให้เกิดการแสวงหาสิ่งใหม่ แนวคำสอนของนักปรัชญาตะวันตกหลายคนไม่ว่าจะเป็น ฟรานซิส เบคอน เรอเน่ เดการ์ต เป็นต้น ต่างก็ส่งเสริมและกระตุ้นความต้องการของมนุษย์ ดังนั้นวิถีชีวิตของชาวตะวันตกจึงเป็นไปในลักษณะที่ส่งเสริมความต้องการ ในขณะที่พระพุทธศาสนาสอนให้ดำเนินชีวิตเพื่อลดความต้องการ ลดการแย่งชิงผลประโยชน์ เพื่อให้มนุษย์สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข และอยู่บนพื้นฐานของการปฏิบัติแบบเกื้อกูลต่อธรรมชาติ บทความนี้จึงมีวัตถุประสงค์ในการเปรียบเทียบแนวความคิดที่แตกต่างว่าด้วยเรื่องความต้องการระหว่างพระพุทธศาสนากับปรัชญาตะวันตก

วิชัย สุนาโท. (2546). ปริทัศน์ทางความคิดว่าด้วยเรื่อง ความต้องการเปรียบเทียบแนวความคิดระหว่างพระพุทธศาสนากับปรัชญาตะวันตก. วารสาร มฉก.วิชาการ 7 (13), 61-71.

View (22)

การศึกษาภาษาจีนระดับอุดมศึกษาในประเทศไทย
มี.ค. 19th, 2016 by rungtiwa

การศึกษาภาษาจีนระดับอุดมศึกษาในประเทศไทย

บทคัดย่อ

ปัจจุบันการศึกษาภาษาจีนนับวันก็ยิ่งมีความสำคัญมากขึ้น ประเทศไทยในฐานะเพื่อนบ้านที่มีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิดกับประเทศจีน ไม่ว่าด้านธุรกิจหรือศิลปะวิทยาการด้านอื่นๆ รวมถึงความสัมพันธ์ระหว่างชนชาติ ด้วยเหตุนี้ผู้เกี่ยวข้องจำเป็นต้องศึกษาภาษาจีนเพื่อสื่อสารและสร้างความเข้าใจอันดีต่อกัน แต่เนื่องจากปัจจัยทางการเมืองในช่วงเวลาหนึ่งทำให้การศึกษาภาษาจีนในประเทศไทยต้องชะลอหรือชะงักการพัฒนา ปัจจุบันผู้ที่มีวิสัยทัศน์จึงต้องมองปัญหาการศึกษาภาษาจีนของไทยให้กระจ่างเพื่อจะได้พัฒนาให้เป็นระบบและก้าวไกลทันกับการศึกษาภาษาจีนทั่วโลก การจัดการศึกษาภาษาจีนในระดับอุดมศึกษาของไทยแม้ว่าจะดำเนินการมาแล้วกว่า 20 ปี แต่ปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้นยังไม่ได้รับการแก้ไขอย่างจริงจังและปัจจุบันนับวันจะเพิ่มมากขึ้น

บทความบทนี้ได้นำเสนอปัญหาและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการศึกษาภาษาจีนระดับอุดมศึกษาของประเทศไทยในภาพรวมโดยมีวัตถุประสงค์ให้ผู้เกี่ยวข้องได้เข้าใจปัญหาต่าง ๆ เพื่อจะได้ร่วมกันสร้างสรรค์และพัฒนาการศึกษาภาษาจีนให้เกิดประสิทธิผลอย่างแท้จริง

นริศ วศินานนท์. (2546). การศึกษาภาษาจีนระดับอุดมศึกษาในประเทศไทย. วารสาร มฉก.วิชาการ 7 (13), 51-60.

View (31)

การกระทำทารุณกรรมผู้สูงอายุในสังคมไทย
มี.ค. 19th, 2016 by rungtiwa

การกระทำทารุณกรรมผู้สูงอายุในสังคมไทย

บทคัดย่อ

การกระทำทารุณกรรมผู้สูงอายุในสังคมไทยเป็นบทความที่นำเสนอถึงปรากฏการณ์การกระทำความรุนแรงต่อผู้สูงอายุ ซึ่งในสังคมไทยยังมีการกล่าวถึงกันน้อย ดังนั้นบทความนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ประชาชนมีความรู้ ความเข้าใจถึงความหมายและรูปแบบการกระทำความรุนแรงต่อผู้สูงอายุ ซึ่งได้แก่ การกระทำทารุณกรรมด้านร่างกาย ด้านจิตใจหรืออารมณ์ ด้านวัตถุ การทอดทิ้งทางร่างกาย และการทอดทิ้งทางด้านจิตใจ พร้อมทั้งหยิบยกประเด็นการศึกษาวิจัยที่เกี่ยวข้องเพื่อเป็นตัวอย่างให้เห็นภาพการกระทำทารุณกรรมผู้สูงอายุอย่างชัดเจนยิ่งขึ้น นอกจากนี้ได้นำเสนอถึงการวิเคราะห์ปัจจัยของการเกิดการกระทำรุณกรรมผู้สูงอายุ ซึ่งประกอบด้วย ปัจจัยด้านการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางสังคม การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างสถาบันครอบครัว การเปลี่ยนแปลงด้านทัศนคติของคนในครอบครัว และการเปลี่ยนแปลงด้านสภาพร่างกายของผู้สูงอายุเอง ตลอดจนการนำเสนอแนวทางแก้ไขไว้ในช่วงสุดท้าย ซึ่งจะต้องพิจารณาตั้งแต่ระดับนโยบาย ระดับปฏิบัติการ ระดับชุมชน และระดับครอบครัว

นุชนาฎ ยูฮันเงาะ. (2546). การกระทำทารุณกรรมผู้สูงอายุในสังคมไทย. วารสาร มฉก.วิชาการ 7 (13), 43 – 50.

 

View (39)

การมีส่วนร่วมขององค์กรชุมชน : ทางเลือกใหม่ของการจัดการปัญหาขยะ
มี.ค. 19th, 2016 by rungtiwa

การมีส่วนร่วมขององค์กรชุมชน : ทางเลือกใหม่ของการจัดการปัญหาขยะ

บทคัดย่อ

ปัญหาสิ่งแวดล้อมของประเทศไทยที่ควรให้ความสำคัญอย่างยิ่งคือ ปัญหาขยะที่มีปริมาณเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วแต่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถจัดเก็บได้เพียง ร้อยละ 60-80 เท่านั้น

ความพยายามในการแก้ไขปัญหาที่ผ่านมามีทั้ง วิธีการกำจัดขยะแบบการฝังกลบ การเผา การจัดตั้งศูนย์กำจัดขยะมูลฝอย และการนำมาตรการด้านภาษีและค่าธรรมเนียมมาบังคับใช้ยังมีข้อจำกัดมากมายส่งผลให้ขาดประสิทธิภาพในทางปฏิบัติ จึงมีการเปลี่ยนมุมมองต่อเรื่องขยะเสียใหม่ เพราะโครงสร้างขยะเปลี่ยนไปแล้ว ขยะไม่ใช่แค่เศษอาหาร เศษวัชพืช อีกต่อไป แต่เป็นสิ่งที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ และยังทำให้เกิดคุณภาพของสินค้าตัวใหม่ที่ปลายทางดีขึ้นด้วย ไม่ว่าจะเป็น การทำปุ๋ยหมัก หรือ หมักสารจุลินทรีย์ หรือสารสกัดชีวภาพ การหลอม หรือผลิตสินค้ารีไซเคิลตัวใหม่ ๆ

ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2542 เป็นต้นมา ได้มีองค์กรชุมชนหลาย ๆ แห่งได้รวมตัวกันจัดการขยะในลักษณะของธุรกิจชุมชนทำให้สมาชิกมีรายได้จากการขายขยะและยังสร้างจิตสำนึกในการรักษาสิ่งแวดล้อมชุมชน ซึ่งกิจกรรมนี้ได้มีการนำไปปฏิบัติแพร่หลาย โดยมีแนวทางการจัดการขยะของชุมชนเกิดขึ้นหลายรูปแบบ ได้แก่ ประเภทซาเล้งอิสระ ส่งเสริมกิจกรรมเพื่อพัฒนาชุมชน การส่งเสริมสิ่งแวดล้อมชุมชน ธนาคารขยะ และธุรกิจชุมชน และได้ขยายเป็นเครือข่ายองค์กรด้านการจัดการปัญหาขยะ มีลูกข่ายเกือบทั่วประเทศ ภายใต้กลไกที่ทำให้เกิดความสำเร็จเช่น กลไกทางการศึกษา ผู้นำ การเรียนรู้จากการเห็นประโยชน์และการปฏิบัติจริงของชุมชน การประสานงานกับองค์กรท้องถิ่น การใช้เครือข่ายองค์กร และผลประโยชน์ด้านสวัสดิการสังคมและเศรษฐกิจที่ชุมชนได้รับ เป็นต้น

การมีส่วนร่วมของภาคชุมชนจึงเป็นแนวทางที่สำคัญในการแก้ไขปัญหาขยะที่ยั่งยืน

รายการอ้างอิง

กรรณิกา ขวัญอารีย์. (2546). ปัญหาสิ่งแวดล้อมของประเทศไทยที่ควรให้ความสำคัญอย่างยิ่งคือ ปัญหาขยะที่มีปริมาณเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วแต่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถจัดเก็บได้เพียง ร้อยละ 60-80 เท่านั้น. วารสาร มฉก.วิชาการ 7 (13), 33 – 42.

View (5)

ความสำคัญของวัฒนธรรมข้ามชาติต่อการดำเนินธุรกิจระหว่างประเทศ
มี.ค. 19th, 2016 by rungtiwa

ความสำคัญของวัฒนธรรมข้ามชาติต่อการดำเนินธุรกิจระหว่างประเทศ

บทคัดย่อ

วัฒนธรรมข้ามชาติ หมายถึงวัฒนธรรมที่แตกต่างกันของชนแต่ละชาติ ซึ่งมีผลต่อผู้บริหารธุรกิจระหว่างประเทศที่จะต้องคำนึงว่ามีความสำคัญ ทั้งในการติดต่อสื่อสาร การบริหารงาน และการตลาด ผู้บริหารต้องเลือก กลยุทธ์ที่เหมาะสมเมื่อเผชิญกับลูกค้า ลูกจ้างและเจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีความแตกต่างกันทางวัฒนธรรม

เพ็ญศิริ สุธรรมโน. (2546). ความสำคัญของวัฒนธรรมข้ามชาติต่อการดำเนินธุรกิจระหว่างประเทศ. วารสาร มฉก.วิชาการ 7 (13), 22 – 32.

 

 

View (122)

อำนาจและพฤติกรรมการเมือง : บทบาทที่มีต่อความก้าวหน้าและการถดถอยขององค์การ
มี.ค. 19th, 2016 by rungtiwa

อำนาจและพฤติกรรมการเมือง : บทบาทที่มีต่อความก้าวหน้าและการถดถอยขององค์การ

บทคัดย่อ

อำนาจและพฤติกรรมการเมืองเป็นสิ่งที่อยู่ควบคู่กับองค์การ ทั้งนี้เพราะองค์การจำเป็นต้องมีมนุษย์เข้ามาทำงานร่วมกันเพื่อให้บรรลุจุดมุ่งหมายขององค์การ อย่างไรก็ตาม ความสำเร็จขององค์การจะเกิดขึ้นได้ ก็ต่อเมื่อมนุษย์ได้ใช้อำนาจและพฤติกรรมการเมืองให้ดำเนินไปอย่างเหมาะสม ส่งเสริมให้องค์การก้าวหน้าได้จากความสามัคคีของบุคลากร แต่หากเป็นไปในทางตรงกันข้ามแล้ว ก็จะส่งผลให้เกิดการเล่นพรรคเล่นพวกกันอย่างแพร่หลาย ผลประโยชน์ของตนเองและของกลุ่มจะมีความสำคัญมากกว่าผลประโยชน์ขององค์การ บทความนี้จึงนำเสนอแนวคิดและหลักการที่จะพึงมีคุณประโยชน์ต่อองค์การโดยรวมที่แสวงหาความก้าวหน้าโดยอาศัยความร่วมมือร่วมใจจากบุคลากรขององค์การ

สถาพร ปิ่นเจริญ. (2546). อำนาจและพฤติกรรมการเมือง : บทบาทที่มีต่อความก้าวหน้าและการถดถอยขององค์การ. วารสาร มฉก.วิชาการ 7 (13), 13 – 21.

View (23)

»  Substance:WordPress   »  Style:Ahren Ahimsa